การระบาดของยามีพิษ ของ ฆาตกรรมหมู่ในนครชิคาโกด้วยยาไทลินอล พ.ศ. 2525

เช้าตรู่ของวันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) เด็กหญิงวัยสิบสองปีนาม แมรี เคลเลอร์แมน (Mary Kellerman) แห่งหมู่บ้านเอลก์โกรฟ นครชิคาโก คุกเคาน์ตี (Elk Grove Village, Cook County) รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เสียชีวิตอย่างกะทันหันหลังจากรับประทานยาแก้ปวดระดับความแรงพิเศษยี่ห้อ "ไทลินอล" เมื่อเช้าวันนั้น[2] [3]

ถัดมาไม่นาน แอดัม เจเนิส (Adam Janus) แห่งหมู่บ้านอาร์ลิงทันไฮส์ (Arlington Heights) นคร เคาน์ตี และรัฐเดียวกัน ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลท้องถิ่น และหลังจากนั้นไม่นานอีก สแตนลีย์ เจเนิส (Stanley Janus) แห่งหมู่บ้านไลล์ ดูปาชเคาน์ตี (Lisle Village, DuPage County) นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ผู้เป็นน้องชายของแอดัม เจเนิส พร้อมด้วยเธเรซา เจเนิส (Theresa Janus) ภรรยาของสแตนลีย์ ก็เสียชีวิตตามไปด้วยในวันเดียวกันขณะกำลังร่วมพิธีศพของแอดัม เจเนิส ผลการสืบสวนพบว่าทั้งหมดตายเพราะรับประทานยาแก้ปวดกระปุกเดียวกัน[2]

ถัดจากนั้นอีกไม่นานในวันเดียวกัน แมรี แมกฟาร์แลนด์ (Mary McFarland) แห่งเมืองเอล์มเฮิสต์ (Elmhurst) นครชิคาโก ดูปาชเคาน์ตี รัฐอิลลินอยส์, พอลา พรินส์ (Paula Prince) แห่งนครชิคาโก และแมรี เรเนอร์ (Mary Reiner) แห่งหมู่บ้านวินฟีลด์ (Winfield) นคร เคาน์ตี และรัฐเดียวกัน พร้อมใจกันจบชีวิตลงหลังจากรับประทานยาแก้ปวด "ไทลินอล"[2]

ด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่างรวดเร็ว พนักงานสืบสวนพบว่าการตายทั้งหมดในนครชิคาโกล้วนเชื่อมโยงกันโดยมียาแก้ปวด "ไทลินอล" เป็นศูนย์กลาง รัฐบาลท้องถิ่นออกประกาศเตือนทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์กระจายภาพ และเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถตระเวนไปตามบ้านเรือนทุกหลังคาเรือนเพื่อแจ้งเตือนอย่างถึงที่ด้วยโทรโข่ง

ยาแก้ปวดที่เป็นปัญหานั้นส่งมาจากโรงงานที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความที่เหตุการณ์ตายไล่เลี่ยกันนี้เกิดขึ้นในท้องที่เดียวกัน เจ้าหน้าที่จึงจับจุดได้ว่าน่าจะเกิดความผิดปรกติในระหว่างกระบวนการผลิตยา กระนั้น ก็ยังไม่ละข้อสันนิษฐานว่าผู้ไม่ประสงค์ดีอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์เข้าไปยังห้างร้านต่าง ๆ และสับเปลี่ยนกระปุกยาไทลินอลจากหิ้งด้วยกระปุกยาไทลินอลที่มีไซยาไนด์ (cyanide) ปลอมปนอยู่แทน อนึ่ง นอกเหนือไปจากยาห้ากระปุกที่นำพาความตายไปสู่ผู้เคราะห์ร้ายเจ็ดรายข้างต้นแล้ว เจ้าหน้าที่ยังตรวจพบยาอีกสามกระปุกที่มีสารพิษปลอมปนก่อนจะถูกเปิดอีกด้วย

บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ต้นสังกัดผู้ผลิตยาไทลินอล มีประกาศเตือนไปยังโรงพยาบาลสถานอนามัยต่าง ๆ และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตน กับทั้งในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) ยังได้เรียกเก็บผลิตภัณฑ์ไทลินอลทั้งหมดทั่วประเทศกลับคืนสู่บริษัท และสั่งพักโฆษณายาไทลินอลชั่วคราว ในการนี้ ประมาณว่ายาที่ถูกเรียกคืนมีจำนวนกว่าสามสิบเอ็ดล้านกระปุก คิดเป็นมูลค่ากว่าหนึ่งร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันยังแถลงทางสื่อมวลชนเตือนประชาชนทั้งหลายให้หยุดบริโภคผลิตภัณฑ์บรรดามีที่มีส่วนผสมของไทลินอลชั่วคราว อนึ่ง เมื่อแน่ชัดว่ามีแต่ยาประเภทแคปซูลที่ถูกใส่สารพิษปนเปื้อน บริษัทยังได้ปฏิรูปการบรรจุเภสัชภัณฑ์ไทลินอลโดยเปลี่ยนจากแบบแคปซูลไปเป็นแบบเม็ดแข็งทั้งหมด และยังรับแลกแบบแคปซูลที่มีการซื้อไปแล้วเป็นแบบเม็ดแข็งให้ด้วย

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฆาตกรรมหมู่ในนครชิคาโกด้วยยาไทลินอล พ.ศ. 2525 http://www.boston.com/news/local/massachusetts/art... http://www.chicagoreader.com/tylenol_killings/ http://www.cnn.com/2009/CRIME/02/04/tylenol.murder... http://www.iht.com/articles/ap/2009/02/04/america/... http://www.nytimes.com/1984/01/15/us/tylenol-figur... http://www.thebostonchannel.com/news/18703672/deta... http://www.trutv.com/library/crime/terrorists_spie...